26 ตุลาคม 2552

การก่อตั้งสโมสรไลออนส์ในประเทศไทย (lions310 thailand)

  • การก่อตั้งสโมสรไลออนส์ในประเทศไทย

แรกเริ่มประมาณกลางปี พ.ศ. 2500 ไลออน เอ็ช. ปันโดล ซึ่งเป็นผู้แทนสมาคมสโมสรไลออนส์สากล ประจำภาคเอเชียตะวันตก และสำนักงานประจำอยู่ที่นครบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะมาหาทางดำเนินการก่อตั้งสโมสรไลออนส์ขึ้น ในกรุงเทพมหานครให้ได้ เขามุ่งตรงไปสำนักงานยูซิส ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสพบปะคนไทยคนแรก คือ น.พ.ปันต์ เลาหะพันธ์ ซึ่งทำงานอยู่ที่นั่น ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องของสโมสรไลออนส์สากล ต่อจากนั้น น.พ.ปันต์ ได้พา ไลออน ปันโดล ไปพบ ม.ล.จิตรสาร ชุมสาย ซึ่งเป็นเพื่อนกัน และทำงานอยู่ที่สายการบินแอร์อินเดียในเวลานั้น ทั้งสามได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องไลออนส์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้แนะนำให้ไลออน ปันโคล ได้พบปรึกษากับ ม.จ.อาชวดิศ ดิศกุล, ดร.บุญรอด บัณฑสันท์, คุณตุ๊ วัชราธร และคุณวิชา เศรษฐบุตร ซึ่งหากท่านเห็นด้วยในแนวความคิดนี้ ก็ขอให้ท่านโปรดแนะนำคนอื่นให้อีก ไลออน ปันโคล เป็นผู้ที่มีมานะและความตั้งใจเด็ดเดี่ยวจริงๆ ได้ไปพบท่านเหล่านั้นแต่ละคนด้วยตนเองทั้งสิ้น เพราะแต่ละท่านยังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้กันเท่าใด ไลออนปันโคล ไม่ละความพยายามได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยอีกหลายครั้ง ในปีต่อมาได้เข้าเฝ้าและพบบุคคลผู้กล่าวพระนามและนามดังกล่าวบ่อยครั้ง จนสามารถโน้มน้าวให้เกิดศรัทธาในอุดมการณ์ของไลออนส์สากลได้ ในที่สุดสามารถรวบรวมบุคคลได้ 9 ท่าน คือ ม.จ.อาชวดิศ ดิศกุล, ดร.บุญรอด บัณฑสัณฑ์, คุณอนันต์ จินตกานนท์, คุณสุรเทิน บุนนาค, คุณตุ๊ วัชราธร, คุณฉุน ประภาวิวัฒน์, คุณทวี เนียรกุล, นพ.ปันต์ เลาหะพันธ์ และม.ล.จิตรสาร ชุมสาย ซึ่งได้นัดหมายให้ไปพบปะกันที่วังของ ม.จ.อาชวดิศฯ โดยได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง ในที่สุดก็ได้ตกลงยอมรับที่จะร่วมมือก่อตั้งสโมสรไลออนส์ขึ้น
ในระยะแรกของการเตรียมการ ม.จ.อาชวดิศ ดิศกุล ได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้บุคคลกลุ่มนี้ไปประชุมที่ตำหนักของท่านที่ถนนเพชรบุรี ทุกเย็นวันอาทิตย์ให้ช่วยกันแปลธรรมนูญและข้อบังคับของไลออนส์สากลให้เป็นภาษาไทย เพื่อเป็นหลักให้สโมสรไลออนส์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป เมื่อได้ตรวจทบทวนธรรมนูญ และข้อบังคับภาคภาษาไทยจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็ตกลงใจกันที่จะดำเนินการก่อตั้งสโมสรไลออนส์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยโดยช่วยกันไปชักชวนผู้ที่สนใจและใฝ่ใจในทางประกอบกิจกรรมเพื่อการกุศลให้ได้อย่างน้อย 30 ท่าน มาร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งสโมสรไลออนส์ขึ้น

การก่อตั้งสโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพฯ
หลังจากมีสมาชิก 30 ท่านแล้วได้มีการประชุมกันอีกหลายครั้งที่ปาล์มเรสตัวรองต์หลังโรงแรมเอราวัณ โดยมีไลออนส์ ปันโดล มาร่วมประชุมด้วยเกือบทุกครั้ง ในที่สุดก็รวมสมาชิกก่อตั้งได้ถึง 30 ท่านจริงๆ ได้ให้ความเห็นชอบที่จะตั้งชื่อสโมสรว่า “สโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพฯ” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Lions Club of Bangkok” โดยมี ดร.บุญรอด บิณฑสัณฑ์ เป็นนายกคนแรก ที่ประชุมยังได้มีมติให้ใช้ภาษาในการประชุมเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย สโมสรไลออนส์สากลแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2502 และจัดให้มีการฉลองบัตรชารเตอร์ขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2502 ต่อมาสโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2506 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นเกียรติอย่างสูงแก่สโมสรและแก่สมาชิกทุกคนทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

กิจการไลออนส์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าอย่างเชื่องช้าในระยะ 6-7 ปีแรก เพราะยังเป็นของใหม่ต่อคนไทยอยู่ สโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพฯ ยังคงดำเนินการเป็นเอกเทศอยู่สโมสรเดียวในประเทศไทย ไลออนส์สากลได้เสนอให้ไปรวมกับสโมสรไลออนส์ในประเทศพม่า สโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพฯ ตอบปฏิเสธไป โดยขออยู่อย่างโดดเดี่ยวและขึ้นตรงต่อไลออนส์สากล ไลออนส์ภาค 308 (มาเลเซีย-สิงคโปร์) ก็ได้เชื้อเชิญให้ไปร่วมอยู่ในสังกัดภาคเดียวกัน จนกระทั่ง พ.ศ.2507 ไลออนส์ในประเทศไทยได้เริ่มสโมสรที่สองขึ้นคือ สโมสรไลออนส์ชลบุรี และในปีต่อ ๆ มาก็ได้มีสโมสรเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวมถึง 8 สโมสร ในระยะระหว่าง พ.ศ.2509 นั้น ไลออนส์สากลได้ขอให้สโมสร ไลออนส์ในเวียดนามใต้ซึ่งมีอยู่ 6 สโมสรแล้วมาร่วมอยู่ในสังกัดประเทศไทยรวม 14 สโมสรไลออนส์ไทย จึงได้รับแต่งตั้งจากไลออนส์สากลให้เป็นภาค 310 ชั่วคราว ระหว่างปี พ.ศ.2509-2511 ไลออน ม.จ.อาชาวดิศ ดิศกุล ได้รับการแต่งตั้งจากไลออนส์สากล ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการภาค 310 ชั่วคราวถึง 2 ปีติดกัน เนื่องจากในระยะนั้นยังมีสโมสรไม่ครบ 20 สโมสร ในปี พ.ศ.2511 สโมสรในประเทศไทยได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 14 สโมสรและในเวียดนามได้มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 8 สโมสรเมื่อมีรวมกันเกิน 20 สโมสร ตามธรรมนูญไลออนส์สากลได้กำหนดให้มีผู้ว่าราชการภาคด้วยการเลือกตั้งจากการประชุมใหญ่ประจำปี ไลออนส์ ม.จ.อาชาวดิศ ดิศกุล ได้รับเลือกตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการภาคอีกจึงทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการภาค 310 ถึง 3 สมัย และในปี พ.ศ.2511 นั้นเอง สโมสรไลออนส์เวียดนามได้ขอแยกจากเราไปตั้งเป็นภาคของตนเองขึ้น ดังนั้น ภาค 310 ของเราจึงมีแต่สโมสรไลออนส์ไทยเท่านั้น แต่ในต้นปี พ.ศ.2513 เราได้ดำเนินการก่อตั้งสโมสรไลออนส์เวียงจันทร์แห่งราชอาณาจักรลาวขึ้น ภาค 310 ในระยะนั้นจึงได้รับการขนานนามว่า ไลออนส์สากลภาค 310 (ไทย-ลาว) แต่หลังนั้นมาประมาณ 5 ปีเศษ สโมสรไลออนส์เวียงจันทร์ไม่สามารถประคองตัวอยู่ใต้ภาค 310 เราจึงได้เสนอให้ไลออนส์สากลตัดสโมสรไลออนส์เวียงจันทร์ออก เราจึงเป็นภาค 310 ที่มีแต่สโมสรไลออนส์ในประเทศไทยล้วนๆ แต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา : หนังสือที่ระลึกในงานฉลองครบรอบ 40 ปี สโมสรไลออนส์ธนบุรีและ 30 ปี สโมสรไลออนส์ธนบุรีรัตน์ หน้า 47-48

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น